วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)

.
.


เกิด วันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822

เสียชีวิต วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1895


ผลงาน

  • ค้นพบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขป่า

  • ค้นพบว่า จุลินทรีย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย

  • ค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยการนำมาต้มหรือเรียกว่า พาลเจอร์ไรเซชัน(Pasteurization)


ปาสเตอร์เป็นนักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา และคุณประโยชน์อย่างมากให้กับศาธารณชน คือ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้เป็นโรคระบาดที่รุนแรง แต่ก็สามารถคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากเช่นกันนอกจากนี้เขายังค้นพบวัคซีนอีกหลายชนิด ได้แก่ อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ ผลงานของเขาที่สร้างคุณประโยชน์อย่างมากอีกชิ้นหนึ่ง คือ การค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แบบพาสเจอร์ไรต์ ในปัจจุบันวิธีการนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดเพราะสามารถเก็บรักษาอาหารได้นานและปลอดภัยมากที่สุด



ปาสเตอร์เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล มลรัฐจูรา ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นช่างฟอกหนังชื่อว่า จีน โจเซฟ ปาสเตอร์ (Jean Joseph Pasteur) และเคยเป็นทหารในกองทัพของพระเจ้านโปเลียนมหาราช และได้รับเหรียญกล้าหาญจากสงครามด้วย ต่อมาครอบครัวของปาสเตอร์ได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbors) แม้ว่าฐานะครอบครัวของเขาจะมีฐานะไม่ดีนัก แต่บิดาก็ต้องการให้หลุยส์มีความรู้ที่ดี การศึกษาขั้นแรกของปาสเตอร์เริ่มต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดอาร์บัวส์ซึ่งวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่เขาเรียนได้ดีที่สุด นอกจากนี้เขามีความสามารถในการวาดรูปอีกด้วย โดยเฉพาะภาพเหมือน (Portrait) เขามีความชำนาญมากที่สุดรูปเหมือนที่ปาสเตอร์ได้วาด เช่น ภาพบิดา มารดา และเพื่อน ๆ ของเขา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันภาพเหล่านี้ได้ถูกแขวนประดับไว้ในสถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (The Pasteur Institute in Paris)ด้วยความที่ปาสเตอร์เป็นนักเรียนที่เรียนดี มีความสามารถ และความประพฤติเรียบร้อย จึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยอาร์บัวส์ให้ไปเรียนที่อีโคล นอร์เมลซูพีเรีย (Ecole Normale Superiere) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกหัดครูชั้นสูงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงปารีสด้วยอาจารย์ใหญ่ต้องการให้เขากลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยอาร์บัวส์นั่นเอง แต่ปาสเตอร์เรียนอยู่ที่นี่ ได้ไม่นาน บิดาก็ต้องมารับกลับบ้าน ด้วยเขาป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้าน (Home Sick) อย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะถึงขั้นเป็นโรคประสาทได้ในเวลาต่อมา



ต่อมาเขาได้เข้าเรียนต่อวิชาอักษรศาสตร์ ที่รอยับลคอลเลจ (Royal College) ในเบซานกอน (Besancon) หลังจากจบการศึกษาแล้ว ปาสเตอร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ต่อจากนรั้นปาสเตอร์ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง Ecole Normale Superiere อย่างที่เขาตั้งใจในครั้งแรก ในระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเคมีกับนักเคมี ผู้มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ เจ.บี. ดีมาส์ (J.B. Dumas) และ เอ.เจ. บาลาร์ด ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (SorbonneUniversity) เนื่องจากมีบางวิชาที่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาที่ อีโคล นอร์เมล ซูพเรียเขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลึก (Crystallography) ในปี ค.ศ. 1852 เมื่อปาสเตอร์จบการศึกษาแล้ว เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับกรดทาร์ทาริก หรือกรดปูนที่ใช้ทำน้ำส้ม (Tartaric acid) จากผลงานการทดลองชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1849 เขาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasburg University) ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาเคมี



ต่อจากนั้นในปี ค.ศ. 1854 ปาสเตอร์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล์ (University of Lille) ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาเคมีและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ด้วยความที่เมืองลิลล์เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีทั้งเหล้าเบียร์ และไวน์ และครั้งหนึ่งปาสเตอร์ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานทำแอลกอฮอล์จากน้ำตาลหัวผักกาดแห่งหนึ่ง ทำให้เขารู้ปัญหาของโรงงานที่ว่าเกิดการเน่าเสียของแอลกอฮอล์ และยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ ดังนั้นปาสเตอร์จึงนำตัวอย่างแอลกอฮอล์ไปตรวจสอบในขณะนั้นมีนักวิทยาศาสต์ท่านหนึ่งสามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ได้สำเร็จ เขาจึงนำกล้องจุลทรรศน์มาใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ด้วย โดยในส่วนแรกเป็นแอลกอฮอล์ที่ดีเมื่องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูปรากฏว่า มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งลำตัวกลมมีชื่อว่า ยีสต์ (Yeast) ซึ่งมีฤทธิ์เปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นแอลกอฮอล์และได้พบแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นท่อน ๆ แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า บาซิลลัส (Bacillus) ซึ่งมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนน้ำตาลแดงให้เป็นกรดแลคติกได้ หรือเป็นตัวการที่ทำให้แอลกอฮอล์มีคุณภาพต่ำ จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ปาสเตอร์เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับของหมักดอง ในที่สุดปาสเตอร์ได้พบว่า การหมักดองทำให้เกิดกรดขึ้น 2 ชนิด ได้แก่ กรดซักซินิก (Succinic acid) และกลีเซอร์ไรน์ (Glycerin) การค้บพบครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมากในวงการอุตสาหกรรมและเป็นการบุกเบิกการค้นคว้าหาสารเคมีชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ปาสเตอร์ได้ตั้งทฤษฎีการหมักดอง (Fermentation Theory) กล่าวว่า การหมักดองเป็นผลมาจากจุลินทรีย์



เมื่อเขาค้นพบว่าจุลินทรีย์ทำให้เกิดผลเสียมากมาย ปาสเตอร์จึงทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่อไป และพบว่า จุลินทรีย์ ที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศทำให้เกิดความเจ็บป่วย และอาหารรวมถึงนมเน่าเสียได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นวิธีการเก็บรักษาของให้อยู่ได้นาน ๆ ก็คือ ต้องฆ่าจุลินทรีย์เหล่านี้ให้หมดไป ปาสเตอร์ได้ทดลองฆ่าเชื่อจุลินทรีย์ โดยการนำนมมาต้มในความร้อน 145 องศาฟาเรนไฮต์ ทำให้เย็นลงโดยเร็วที่สุด ภายใน ? ชั่วโมง เพื่อให้จุลินทรีย์ตายหมด ก่อนนำไปบรรจุใส่ขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวด ให้แน่นป้องกันไม่ใช้เชื้อจุลินทรีย์เข้าได้ ผลปรากฎว่านมสดอยู่ได้นานกว่าปกติ โดยที่ไม่เน่าเสีย จากนั้นปาสเตอร์ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น เหล้า เบียร์ น้ำกลั่น และไวน์ เป็นต้น วิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของ พาสเจอร์ไรเซชัน(Pasteurization) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการค้นคว้าทดลองครั้งนี้ปาสเตอร์ยังพบวิธีการทำน้ำส้มสายชูโดยใช้จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดเหล้าองุ่นมาเพาะ แล้วเติมลงไปในเหล่าองุ่นที่ผ่านวิธีพาสเจอร์ไรต์แล้วด้วยวิธีการนี้จะได้น้ำส้มสายชูที่มีคุณภาพดี



การค้นคว้าเรื่องจุลินทรีย์ของปาสเตอร์ไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ ในปี ค.ศ. 1865 เขาพบถึงสาเหตุของเซลล์ที่ตายแล้วเน่าเปื่อย ก็เป็นผลมาจากเชื้อจุลินทรีย์เช่นเดียวกัน ดังนั้นเขาจึงทำการทดลองต่อไป ด้วยปาสเตอร์กลัวว่าเมื่อฝังศพทั่งของสัตว์ และมนุษย์ลงในดินแล้ว ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นลงไปอยู่ในดินได้และอาจจะปนเปื้อนไปกับน้ำบาดาล เมื่อคนนำน้ำบาดาลไปดื่มโดยที่ไม่ต้องต้มฆ่าเชื่อก่อน อาจจะทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ เมื่อการค้นคว้าของปาสเตอร์จบสิ้นลงผลปรากฏว่าเป็นดังเช่นที่ปาสเตอร์กล่าวไว ้คือมีจุลินทรีย์บางชนิดสามารถอยู่ในดินได้จริง เช่น เชื้อบาดทะยัก และแอนแทรกซ์ เป็นต้น



ต่อมาเขาได้ทดลองเกี่ยวกับโรคระบาดที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับตัวไหม ซึ่งทำความเสียหายอย่างหนักให้กับโรงงานอุตสาหกรรมผ้าไหม เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมได้มาขอความช่วยเหลือจากปาสเตอร์ เขาได้ทำการค้นคว้าเรื่องนี้อยู่นางถึง 5 ปี จึงพบว่าโรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ชื่อว่า โนสิมา บอมบายซิล (Nosema Bombysis) ซึ่งตัวหนอนกินเข้าไป ดังนั้นปาสเตอร์จึงอธิบายวิธีการป้องกันโรคนี้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมฟังอย่างละเอียด ซึ่งสามารถป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างดี จากผลงานทาวิทยาศาสตร์วิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) และในปีเดียวกันนี้เขาได้เผยแพร่ผลงานการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการ หมักดองออกมาอีกเล่มหนึ่งจากความสามารถของปาสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1873 เขาได้เชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอะเคดามี ออฟ เมดิซีน (Academy of Medicine)



ในปี ค.ศ. 1887 ปาสเตอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ โดยเริ่มจากโรคที่ร้ายแรงที่สุด คือ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ปาสเตอร์ใช้ปัสสาวะของสัตว์ที่ป่ายเป็นโรคแอนแทรกซ์มาเพาะเชื้อให้อ่อนกำลังลง แล้วไปทำวัคซีน การที่เขานำปัสสาวะของสัตว์มาทำวัคซีนทำให้คนทั่วไปไม่เชื่อถือในวัคซีนของเขา ปาสเตอร์ต้องการให้สาธารณชนประจักษ์แก่สายตาจึงทำการทดลอง ปาสเตอร์ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเกษตร (Agriculture Society) มอบแกะในการทดสอบวัคซีนถึง 50 ตัว ปาสเตอร์แบ่งแกะออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 ตัว กลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฉีด จากนั้นจึงฉีดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ให้กับแกะทั้งหมด ผลปรากฏว่าแกะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไม่ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์เลย แต่แก่กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป่วยและเสียชีวิตหมดทุกตัว



จากผลงานการค้นคว้าชิ้นนี้ ทางรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสได้ขอร้องและมอบเงินสนับสนุนให้กับปาสเตอร์ในการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ ปาสเตอร์ทำการทดลองค้นคว้าและสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ได้สำเร็จโดยเขาผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้จากซุปกระดูกไก่ ปาสเตอร์ได้นำวัคซีนชนิดนี้ได้จากซุปกระดูกไก่ ปาสเตอร์ได้นำวัคซีนฉีดให้กับไก่ ปรากฏว่าไก่ที่ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด



การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุด คือ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าน แม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนได้มากเพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกรายไป สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็ต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกัน จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะทางใด เช่น ถูกเลียบริเวณที่เป็นแผล หรือถูกกัด เป็นต้น เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเาไปทางแผลสู่ร่างกายได้ ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน และนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่ปาสเตอร์ไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งโจเวฟเมสเตร์ เด็กชายวัย 9 ปี ถูกสุนัขบ้ากัด ถึงอย่างไรก็ต้องเสียชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ของเด็กจึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์รักษาซึ่งเป็นโอกาสดีที่ปาสเตอร์จะได้ทดลองยา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้าน การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น



ในปี ค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นสถาบันปาสเตอร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่ง ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยในประเทศไทยใช้ชื่อว่า สถานเสาวภาสถาบันปาสเตอร์ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ เช่นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้นปาสเตอร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1895




อ้างอิงจาก : http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Louis%20Pasteur.html

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ไมเคิล ฟาราเดย์ (Micheal Faraday)

.
.


เกิด วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1791

เสียชีวิต วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1867


ผลงาน


  • ค้นพบสมบัติของแม่เหล็กที่ทำให้เกิดไฟฟ้า

  • ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโม (Dynamo)

  • นำเหล็กมาผสมกับนิกเกิล เรียกว่า สแตนเลส ซึ่งมีสมบัติเหนียว และไม่เป็นสนิท

  • พบสารประกอบเบนซีน (Benzene)

  • บัญญัติศัพท์ทางวิทยาศาสตร์หลายคำ เช่น ไอออน (lon) หมายถึง ประจุ อิเล็กโทรด (Electrode) หมายถึง ขั้วไฟฟ้า คาโทด (Cathode) หมายถึง ขั้วลบ แอโนด (Anode) หมายถึง ขั้วบวก


ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความสำคัญและความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อีกด้วยแม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่การสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในปัจจุบันกระแสไฟฟ้าผลิตขึ้นได้จากพลังงานหลายรูปแบบทั้งน้ำมัน น้ำ ลม และปรมาณู และฟาราเดย์ผู้นี้เองที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เรียกว่า "ไดนาโม (Dynamo)" ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน


ฟาราเดย์เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1791 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจน บิดาของเขามีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก และรับจ้างใส่เกือกม้าทำให้เขาได้รับการศึกษาน้อย ฟาราเดย์ได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถมเท่านั้น ก็ต้องลาออกเพื่อหางานทำตั้งแต่อายุ 13 ปี อาชีพแรกของฟาราเดย์ คือ เด็กส่งหนังสือพิมพ์ในร้านขายหนังสือแห่งหนึ่งด้วยความขยัน ต่อมาเจ้าของร้านหนังสือได้ให้ฟาราเดย์มาเย็บปกหนังสือ แทนที่จะต้องออกไปตระเวนข้างนอก ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ฟาราเดย์ได้อ่านหนังสือหลายประเภท รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย ครั้งหนึ่งฟาราเดย์มีโอกาสได้อ่านหนังสือของเจน มาเซต(Jane Marcet) เกี่ยวกับวิชาเคมีชื่อว่า Conversations in Chemistry และหนังสือสารานุกรมบริตันนิกา (EncyclopediaBritannica) ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าด้วยหลังจากนั้นฟาราเดย์ได้ทำการทดลองตามหนังสือเล่มนี้และจากนั้นฟาราเดย์ก็มีความ ตั้งใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้ได้ในวันหนึ่ง


ในปี ค.ศ. 1813 ฟาราเดย์มีโอกาสได้เข้าฟังการปาฐกถาของเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) เกี่ยวกับวิชาเคมีที่ราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) ฟาราเดย์ให้ความสนใจฟังปาฐกถาครั้งนี้มากถึงขนาดจดคำบรรยายไว้อย่างละอียดหลังจากนั้นเขาได้ทำการคัดลอดใหม่อย่างเรียบร้อย และใส่ปกอย่างสวยงาม ส่งไปให้เดวี่ พร้อมกับจดหมายอีก 1 ฉบับ ใจความในจดหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเขา หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ความฝันของฟาราเดย์ก็เป็นจริง เมื่อเดวี่ตอบรับจดหมาย พร้อมกับชวนฟาราเดย์ไปทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยของเขา แม้ว่าหน้าที่ของฟาราเดย์จะแค่ล้าง หลอดแก้ว อ่างทดลอง หรือล้างเครื่องมือทดลองอื่น ๆ แต่เขาก็รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานนี้ เพราะทำให้เขามีโอกาสใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ อย่างเดวี่ และมีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อีกด้วย กาสรที่ฟาราเดย์อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากมาย ทำให้เขาเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดีผู้หนึ่ง อีกทั้งเขาเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน ช่างจดจำ และขยัน เป็นที่ถูกใจของเดวี่ และได้เลื่อนตำแหน่งฟาราเดย์ให้เป็นเลขาส่วนตัวของเขา มีหน้าที่ติดตาม และบันทึกคำบรรยายในการปาฐกถาของเดวี่ทุกครั้งจึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของฟาราเดย์ที่จะได้เดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาได้ศึกษางานด้านวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน


ต่อมาในปี ค.ศ. 1816 ภายหลังจากการเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ทำให้ฟาราเดย์เป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากคนหนึ่งเลยทีเดียว ประกอบกับเขาเป็นที่รักใคร่ของเดวี่ เดวี่จึงให้โอกาสฟาราเดย์ขึ้นแสดงปราฐกถาเกี่ยวกับวิชาเคมี ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกฟาราเดย์ก็สามารถทำได้ดี หลังจากแสดงปราฐกถาเพียงไม่กี่ครั้ง ประชาชนให้ความสนใจเข้าฟังการปาฐกถาของฟาราเดย์อย่างคับคั่ง ทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากขึ้น พร้อมกันนั้นเขายังได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการห้องทดลองของราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) อีกด้วยและต่อมาในปี ค.ศ. 1824 ฟาราเดย์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาด้วยและในปี ค.ศ. 1833 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตรจารย์วิชาเคมีประจำราชบัณฑิตยสภา


ฟาราเดย์มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้ามาก ครั้งหนึ่งระหว่างที่เขาเป็นเลขานุการของเดวี่ เขาได้ติดตามเดวี่ไปยังกรุงโรม(Rome) ประเทศอิตาลี (ltaly) เขาได้พบกับเคานท์อเลสซานโดรโลตา (Alessandro Volta) นักฟิสิกส์ผู้ค้นพบเซลล์ไฟฟ้า ซึ่งเขาตั้งชื่อว่าโวลตาอิค เซลล์ (Voltaic Cell) โดยการนำเซลล์มาต่อเข้าด้วยกันแบบอนุกรม และประดิษฐ์แบตเตอรี่ไฟฟ้าขึ้น อีกทั้งในระหว่างนั้นมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น ฮานน์ คริสเตียน เออร์สเตด (Hans Christian Oersted) เกี่ยวกับการนำเข็มทิศเข้าไปใกล้ ๆ กับลวดที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ ปรากฏว่าเข็มทิศหันออกไปในทิศทางอื่นแทนทิศเหนือ นอกจากนี้ยังมีการทอลองของอังเดร มารี แอมแปร์ (Andre Marie Ampere) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศล ซึ่งผลการทดลองสรุปได้ว่าไฟฟ้ามีอำนาจทำให้เกิดแม่เหล็ก และสามารถทำให้แท่งเหล็กธรรมดากลายเป็นแม่เหล็กไฟฟ้าได้จากผลงานการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่านนี้ ทำให้ฟาราเดย์มีความสนใจเกี่ยวกับไฟฟ้ามากขึ้นและเริ่มทำการทดลองดูเองบ้าง ปรากฏว่าได้ผลตามนั้นจริง ๆ ทำให้ฟาราเดย์มีความคิดว่าในเมื่อไฟฟ้าสามารถทำให้แท่งเหล็กธรรมดากลายเป็นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นแม่เหล็กตามธรรมชาติก็น่าจะมีกระแสไฟฟ้าอยู่ ดังนั้นฟาราเดย์จึงทำให้การทดลองโดยการนำลวดมาพันแบบโซเลนอยด์ (Solenoid) คือ ใช้ขดลวดมาพันซ้อนกันจนเป็นรูปทรงกระบอก จากนั้นต่อปลายทั้ง 2 ข้างเข้ากับเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าปรากฏว่าเข็มของเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าไม่กระดิก แสดงว่าขดลวดไม่มีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นภายในขดลวด และเมื่อดึงแท่งแม่เหล็ก ออกมาปรากฏว่าเข็มไม่กระดิก จากนั้นฟาราเดย์จึงดึงแท่งแม่เหล็กขึ้นลงหลาย ๆ ครั้งติดต่อกันทำให้เข็มกระดิกไปมาลักษณะเช่นนี้ แสดงว่ามีการเกิดกระแสไฟฟ้าช่วงนั้น ๆ ขณะที่แม่เหล็กเคลื่อนที่กับขดลวดเรียกว่า "กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำ" การทดลองของฟาราเดย์ไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ เขาทำการทดลองต่อไปเนื่องจากเกิดความสงสัยว่า ถ้าสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ใช่แท่งแม่เหล็กแต่เป็นโซเลนอยด์จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าหรือไม่ ผลการทดลองปรากฏว่าทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้เช่นกันแต่การเคลื่อนที่ตัดกันต้องเป็นไปในลักษณะตั้งฉากเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ส่วนการเคลื่อนที่แบบขนานกันจะไม่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า และจากผลการทดลองครั้งนี้ฟาราเดย์ได้นำไปประดิษฐ์เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าชื่อว่า ไดนาโม (Dynamo) ซึ่งเป็นเครื่องที่ เปลี่ยนพลังงานกล เช่น พลังงานไอน้ำ พลังงานลม และพลังงานความร้อน เป็นต้น มาใช้ในการทำให้ขดลวดหมุนเพื่อที่จะเคลื่อนที่ตัดกับเส้นแรงแม่เหล็กในสนามแม่เหล็ก โดยใช้หลักการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า และการที่ไดนาโมจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ



1. ความเร็วของขดลวดตัวนำ และแท่งแม่เหล็ก ถ้าเคลื่อนที่ตัดกันเร็วก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าการเคลื่อนที่ช้า


2. จำนวนขดลวดในโซเลนอยด์ ถ้าจำนวนมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งทำให้เกิดแรงเคลื่อนไฟฟ้าได้สูงมากเท่านั้น



ฟาราเดย์เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ออกไปในปี ค.ศ. 1822 ในหนังสือที่มีชื่อว่า Experimental Researches in Elctriityต่อมาในปี ค.ศ. 1825 ฟาราเดย์ได้ทำการทดลองต่อไปอีก โดยการนำขดลวดอีกเส้นหนึ่งไปวางไว้ใกล้ ๆ กับขดลวดที่มีไฟฟ้า ปรากฏว่าขอลวดเส้นใหม่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ ผลจากการทดลองครั้งนี้ฟาราเดย์สามารถสรุปได้ว่าแม่เหล็กไฟฟ้ามีอำนาจทำให้เกิด กระแสไฟฟ้าในขดลวดอันที่ 2 ได้ จากการทดลองครั้งนี้เป็นที่มาของหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการแปลงศักย์ไฟฟ้าให้ได้สูงต่ำตามต้องการ และในปีเดียวกันนั้นเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) ต่อมาในปี ค.ศ. 1833 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์วิชาเคมีประจำ ราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย


แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียง และเงินทอง เขาก็ยังไม่หยุดทำการทดลองค้นคว้าต่อไป ฟาราเดย์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้า จนในที่สุดเขาสามารถใช้ไฟฟ้าในการแยกธาตุ และชุบโชหะได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้แล้วเขายังนำโลหะ 2 ชนิดมาผสมกัน คือ เหล็กและนิกเกิล เพื่อให้มีสมบัติที่เหนียว และไม่เป็นสนิท โดยเรียกโลหะผสมชนิดนี้ว่า สแตนเลส (Stainless) พบสารประกอบเบนซีน และบัญญัติศัพท์ทางไฟฟ้าหลายคำ เช่น ไออน (lon) หมายถึง ประจุอิเล็กโทรด (Electrode) หมายถึง ขั้วไฟฟ้า คาโทด (Cathode) หมายถึง ขั้นลบ แอโนด (Anode) หมายถึง ขั้วบวก เป็นต้น


ในปี ค.ศ. 1861 ฟาราเดย์ได้ลาออกจากงานในราชบัณฑิตสภา เนื่องจากเขาอายุมากแล้ว อีกทั้งสุขภาพก็เสื่อมโทรม หลังจากนั้นอีก 6 ปีเขาก็ล้มป่วย และเสียชีวิตในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1867



อ้างอิงจาก : http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Micheal%20Faraday.html

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)

.

.

เกิด วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1847

เสียชีวิต วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1931


ผลงาน


  • ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า

  • เครื่องเล่นจานเสียง

  • กล้องถ่ายภาพยนตร์

  • เครื่องขยายเสียง

  • หีบเสียง

  • เครื่องบันทึกเสียง

ถ้าจะพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว คงจะไม่มีใครเหนือกว่าเอดิสัน เอดิสันประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น นอกจากนี้เขายังปรับปรุงเครื่องใช้ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โทรศัพท์เครื่องส่งโทรเลข เป็นต้น ผลงานการประดิษฐ์ของเขาเป็นสิ่งที่สร้างความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน


เอดิสันเกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1847 ที่เมืองมิลาน มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาชื่อว่า แซมมวลเอดิสัน (Samuel Edison) ประกอบธุรกิจในประเทศแคนาดา และได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้างรัฐบาล เมื่อฝ่ายต่อต้านพ่ายแพ้เขาจึงต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ และทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้แปรรูปทุกชนิด เมื่อเอดิสันอายุได้ 7 ขวบ ครอบครัวเขาได้อพยพไปอยู่ที่เมืองพอร์ตฮิวรอน (Port Huron) รัฐมิชิแกน (Michiganป เนื่องจากกิจการของครอบครัวประสบปัญหา และเขาได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองพอร์ตฮิวรอนนั่นเอง แต่เขาไปโรงเรียนได้เพียง 3 เดือน เท่านั้นก็ไม่ยอมไปอีก ด้วยความที่เขาเป็นเด็กซุกซนอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา ทำให้ถูกครูตำหนิและลงโทษ เมื่อเขาออกจากโรงเรียนมารดาจึงรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้เขา เขาเรียนหนังสือยู่เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็สามารถอ่านเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว


สิ่งที่เอดิสันให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ วิทยาศาสตร์ การทดลอง และการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ดังนั้นเขาจึงเริ่มหางานทำตั้งแต่อายุได้ 12 ปี เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเขาไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือในโรงเรียน เอดิสันได้งานทำในบริษัทรถไฟแกรนทรังค์ (Grand Trank Train Company)ในหน้าที่เด็กขายหนังสือพิมพ์ บนรถไฟสายพอร์ตฮิวรอน - ดีทรอยต์ (Port Huron - Detroit) เอดิสันได้ใช้ตู้รถไฟตู้หนึ่งเป็นที่พัก เก็บสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขามักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในห้องพักเพื่ออ่านหนังสือ และทำการทดลองวิทยาศาสตร์ เอดิสันได้ทำงานอยู่ระยะหนึ่งเขาก็สามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เขานำเงินไปซื้อแท่นพิมพ์เล็ก ๆ เครื่องหนึ่ง เพื่อมาพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเขาเอง ซึ่งเขาเป็นเจ้าของบรรณาธิการ นักเขียน และพนักงานขายหนังสือพิมพ์ด้วย หนังสือพิมพ์ของเอดิสันมีชื่อว่า Grand Trank Herald ซึ่งขายดีมาก เอดิสันได้นำเงินกำไรส่วนหนึ่งซื้ออุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ สารเคมี แร่ และหนังสือวิทยาศาสตร์ แต่วันหนึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อรถไฟเกิดกระชากอย่างแรงทำให้แท่งฟอสฟอรัสตกกระแทกพื้น แล้วเกิดระเบิดอย่างแรง ทำให้ไฟไหม้ตู้รถไฟของเขา แต่โชคดีที่ดับไฟทันไม่ได้ลุกลามไปตู้อื่น แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ถูกไล่ออกจากงาน และทำให้หูของเขาต้องพิการ


วันหนึ่งเขาได้ช่วยชีวิตลูกชายของนายสถานีที่กำลังวิ่งเล่นอยู่บนรางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังจะเข้าสถานี เอดิสันกระโดดลงไปอุ้มเด็กน้อยคนนั้นขึ้นมาได้ทันเวลาก่อนที่รถไฟจะทับเด็ก นายสถานีจึงสอนการส่งโทรเลขให้กับเอดิสันเป็นการตอบแทนเมื่อเอดิสันมีความชำนาญในการส่งโทรเลขมากขึ้น ในปี ค.ศ.1862 เขาจึงเช่าที่ว่างในร้านขายยาบริเวณใกล้กับสถานีรถไฟ เปิดร้านรับจ้างส่งโทรเลขแต่กิจการไม่ค่อยดีนัก เพราะมีร้านรับจ้างส่งโทรเลขหลายร้าน ส่วนร้านของเขาเป็นร้านเล็ก ๆ ที่พึ่งเปิดกิจการ จากนั้นเอดิสันจึงหันมาทำกิจการขายเครื่องจักร โดยเช่าส่วนหนึ่งของร้านขายของเปิดแผนกจำหน่ายเครื่องจักรขึ้น


ในระหว่างที่เอดิสันทำกิจการจำหน่ายเครื่องจักร เขาได้ใช้เวลาว่างประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นหลายชิ้น เช่นเครื่องบันทึกคะแนนเสียงในรัฐสภา แต่เมื่อผลิตออกจำหน่ายกลับไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เครื่องพิมพ์ราคาตลาดหุ้น และเครื่องโทรเลข 2 ทาง ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองส่งเป็นอย่างดี เอดิสันได้นำผลงานชิ้นนี้ไปเสนอต่อบริษัทเวสเทิร์ส ยูเนียนเทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นเอดิสันจึงนำผลงานไปเสนอต่อบริษัทโทรเลขแอตแลนติก และแปซิฟิก (Atlantic and Pacific Telegraph Company) ทางบริษัทยอมรับผลงานของเขาแต่เอดิสันโชคร้ายเมื่อเขาทำการทดลองส่งสัญญาณจากนิวยอร์คถึงโรเชสเตอร์ ปรากฏว่าเกิดขัดข้องไม่สามารถส่งสัญญาณได้ทำให้เมื่อเขากลับมาที่เมืองบอสตันก็ต้องได้รับความลำบากเพราะไม่มีทั้งเงิน และงานก็ไม่มีทำ แต่เอดิสันก็ยังโชคดีอยู่บ้างเมื่อเขาพบกับวิศวกรไฟฟ้าผู้หนึ่ง ชื่อ แฟรงคลิน โปป (Franklin Pope) ได้ให้พักอาศัยอยู่ด้วย และฝากงานให้ทำในบริษัทแจ้งราคาทอง ลอว์โกลด์ อินดิเคเตอร์ (Lawglod Indicator) ซึ่งโปปทำงานอยู่ เอดิสันได้เข้าทำงานในตำแหน่งช่างโทรเลขประจำบริษัทด้วยความสามารถของเอดิสันเขาสามารถซ่อมเครื่องส่งโทรเลขได้เป็นอย่างดี และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของโปป และเมื่อโปปลาออก เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งแทนโปป ต่อมาบริษัทได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลหราฟเอดิสันจึงลาออกหลังจากนั้นเขาได้เปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วมกับโปป และหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งชื่อว่า เจ.เอช.แอชลีย์ เอดิสันต้องทำงานหนักอยู่เพียงลำพังต่างกับหุ้นส่วนที่คอยรับผลประโยชน์ แต่เมื่อผลกำไรออกมาทุกคนต่างก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ทำให้เอดิสันรู้สึกไม่พอใจที่ถูกเอาเปรียบเช่นนี้


ดังนั้นในปี ค.ศ.1871 เอดิสันจึงถอนหุ้นออกจากโรงงาน และเดินทางไปยังเมืองนิววาร์ด รัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey)เพื่อเปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ บริษัทของเอดิสันประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการจำหน่ายเครื่องป้องกันความผิดพลาดของใบแจ้งราคาหุ้น ต่อมาในปี ค.ศ.1876 เอดิสันได้ย้ายโรงงานไปที่เมืองเมนโล ปาร์ค (Menlo Park) รัฐนิวยอร์ค (New York) และในปีเดียวกันนี้อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้บริษัทโทรเลขประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงดังนั้นบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ จึงได้ว่าจ้างเอดิสันปรับปรุงโทรศัพท์ของเบลล์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เอดิสันได้พยายามหาวัสดุชนิดอื่น เพื่อใช้แทนแผ่นเหล็กที่เบลล์ใช้ในโทรศัพท์ จนกระทั่งเอดิสันทดลองนำคาร์บอนมาทาบริเวณแผ่นเหล็ก ปรากฏว่าได้ยินเสียชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก ถึงแม้ว่าโทรศัพท์จะจำหน่ายได้ดีเพียงใด เอดิสันก็ได้รับค่าตอบแทนเพียง 100,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เอดิสันได้รับนอกจากเงินก็คือ ระหว่างที่เขาปรับปรุงโทรศัพท์อยู่นั้น เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องหลายอย่าง และจากการปรับปรุงโทรศัพท์ครั้งนี้ทำให้เขาได้พบวิธีประดิษฐ์หีบเสียง ในปี ค.ศ.1877 ซึ่งใช้หลักการเดียวกับโทรศัพท์ คือ เมื่อมีเสียงส่งผ่านเข้าไปจะทำให้โลหะที่อยู่ภายในสั่น ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง เมื่อผลงานชิ้นนี้ของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เอดิสันได้ปรับปรุงหีบเสียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งประดิษฐ์ของเขาอีกชิ้นหนึ่ง ก็คือ เครื่องบันทึกเสียง


เครื่องบันทึกเสียงของเขาประกอบไปด้วยกระบอกสูบเป็นร่องที่เป็นลานเกลียวยาวอันหนึ่ง ซึ่งหมุนไปด้วยข้อเหวี่ยง ทั้งสองด้านของกระบอกสูบนี้เป็นท่อเล็ก ๆ พร้อมกับมีแผ่นกะบัง และเข็มเขาได้ส่งแบบเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกับคำแนะนำให้กับ จอห์น ครุยส์ (John Kruesi) หัวหน้าผู้ช่วยของโรงงาน เมื่อครุยส์นำเครื่องกลที่สร้างเสร็จแล้วมาให้เอดิสัน แต่ครุยส์ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องกลนี้มีประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งเอดิสันพูดใส่ลงไปในกระบอกสูบว่า"Mary have a small sheep"และหมุนเครื่องอีกครั้ง ก็มีเสียงดังออกมาว่า "Mary have a small sheep" สร้างความประหลาดใจให้กับคนงานในโรงงานเป็นอย่างมาก เครื่องบันทึกเสียงถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ต่อมาเขาได้ปรับปรุงเครื่องบันทึกเสียงมาเป็นเครื่องบันทึกโทรเลข (Automatic Telegraph Repeater)


เอดิสันได้นำผลงานทั้งสองชิ้นไปแสดงให้อัลเฟรด อีลีบัช (Alfred Dlybeah) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอนติฟิคอเมริกัน (Scientific American Newspaper) เมื่ออีลีบัชได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของเอดิสัน เขารู้สึกตื่นเต้นมาก และได้นำผลงานทั้ง 2 ชิ้น ของเอดิสันลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปทำให้เอดิสันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก เอดิสันได้รับเชิญจากบุคคลสำคัญหลายท่าน ให้นำผลงานของเขาไปแสดงให้ดู เช่น ลูเธอร์ฟอร์ด บีชาร์ด เฮส์ (RutherfordBirchard Hayes) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา พระราชินีแห่งอังกฤษกษัตริย์แห่งรัสเซีย รวมถึงประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีด้วย


เอดิสันยังคงค้นคว้าและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ต่อไป ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คือ หลอดไฟฟ้า ก่อนหน้านั้นเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าโดยการนำลวดมาต่อเข้ากับขั้วบวกและลบ ของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เมื่อเอาปลายของลวดทั้งสองเข้ามาใกล้ ๆ กัน ปรากฏว่าเกิดประกายไฟกระโดดข้ามไปมา โดยประกายไฟกระโดด มีลักษณะโค้งเล็กน้อยอีกทั้งมีแสงสว่างออกมาด้วย ต่อมาเขาได้ทำการทดลองเช่นนี้ในสูญญากาศและผลจากการทดลองครั้งนี้เดวี่ได้นำไปประดิษฐ์หลอดไฟ โดยตั้งชื่อหลอดไฟฟ้าชนิดนี้ว่า Arc Light แต่เส้นลวดไม่สามารถทนความร้อนได้สูง ทำให้การใช้งานของหลอดชนิดนี้มีอายุสั้น จากการทดลองของเดวี่ เอดิสันจึงได้พยายามค้นหาตัวนำที่สามารถทนความร้อนได้สูงเอดิสันทดลองใช้วัสดุมากกว่า 10,000 ชนิด มาทำการทดลองใช้เป็นไส้ของหลอดไฟ และในปี ค.ศ.1879 เอดิสันก็พบว่าเมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำด้าย จากนั้นนำมาเผาไฟจะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง จากนั้นจึงนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถจุดให้แสงสว่างได้นานถึง 45 ชั่วโมง หลอดไฟฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า Incandesent Electric Lamp แต่ถึงอย่างนั้นเอดิสันก็ยังต้องการหาวัสดุที่ดีกว่า เขาได้ส่งคนงานจำนวนหนึ่งออกไปเสาะหาวัสดุที่ดีกว่าฝ้ายและในที่สุดเขาก็พบว่าเส้นใยของไม้ไผ่ในประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพดีกว่า แต่ถึงกระนั้นหลอดไฟฟ้าของเอดิสันก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะราคาค่าไฟฟ้าในขณะนั้นแพงมาก


เอดิสันจึงเดินทางกลับมานิวยอร์คอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Edison Electric Limit Company เพื่อสร้างเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faradayป มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเขาได้ตั้งชื่อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องนี้ว่า "Beauty Mary Ann" ตามชื่อของภรรยาของเขา จากนั้นเอดิสันได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ค ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นผู้ที่บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า และสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการจำหน่ายหลอดไฟฟ้า และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า


ต่อมาในปี ค.ศ.1889 เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือเกี่ยวกับการถ่ายภาพขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ แต่ในขั้นแรกภาพที่ถ่ายยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต่อมาในปีค.ศ.1912 เขาได้ปรับปรุงและทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ นอกจากกล้องถ่ายภาพยนตร์แล้วเขายังสร้างเครื่องฉายภาพยนตร์ ขึ้นด้วยต่อจากนั้นเอดิสันได้สร้างภาพยนตร์ที่พูดได้ครั้งแรกของโลกขึ้น โดยใช้เครื่องบันทึกเสียงเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการฉายภาพยนตร์ เขาได้ว่าจ้างนักแสดงจากบรอดเวย์ (Broadway) มาแสดงในภาพยนตร์ของเขา ภาพยนตร์เครื่องแรกของเอดิสันชื่อว่า Synchronized Movie


ผลงานของเอดิสันยังมีอีกหลายชิ้น ได้แก่ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง (Amplifier) เครื่องอัดสำเนา (DuplicatingMachine) และแบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็ก เป็นต้น เอดิสันได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อยู่เสมอ การที่เขาทำงานอย่างหนักและพักผ่อนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง เท่านั้น ทำให้เอดิสันได้ล้มป่วยลงด้วยโรคกระเพาะ เบาหวาน และปัสสาวะเป็นพิษแต่เมื่ออาการทุเลาลง แทนที่เขาจะหยุดพักผ่อนกลับไปทำงานอย่างหนักอีก ทำให้อาการป่วยกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นสาเหตุทำให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1931 จากนั้นรัฐบาลได้สร้างหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไว้บนยอดเสาสูง 13 ฟุต 8 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ฟุต 2 นิ้ว หนัก 3 ตัน มีหลอดไฟบรรจุอยู่ภายในถึง 12 ดวงซึ่งมีกำลังไฟฟ้ารวมกันถึง 5,200 วัตต์ หลอดไฟฟ้าอันนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1934 เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ที่เขาได้สร้างเอาไว้



อ้างอิงจาก : http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Thomas%20Alva%20Edison.html

กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

.

.


เกิด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564
เสียชีวิต วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642



ผลงาน


  • ค.ศ. 1584 ตั้งกฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือกฎการแกว่างของนาฬิกาลูกตุ้ม

  • ค.ศ. 1585 ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า Kydrostatic Balance และ Centre of Gravity

  • ค.ศ. 1591 พิสูจน์ทฤษฎีของอาริสโตเติลที่ว่าวัตถุที่มีน้ำหนักเบาว่าผิด อันที่จริงวัตถุจะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ

  • พัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่องดูดาวบนจักรวาลได้

  • พบลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์

  • พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์ - พบทางช้างเผือก (Milky Way)

  • พบบริวารของดาวพฤหัสบดี ว่ามีมากถึง 4 ดวง

  • พบวงแหวนของดาวเสาร์ ซึ่งปากฎว่ามีสีถึง 3 สี

  • พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์

  • พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) - พบดาวหาง 3 ดวง


กาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะผลงานด้านดาราศาสตร์เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด การทดลองและการค้นพบของเขามีประโยชน์มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ เช่น พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ พบบริวารของดาวพฤหัสบดี เป็นต้น


การพบลักษณะการแกว่งของวัตถุซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเครื่องจับเวลา และนาฬิกาลูกตุ้ม อีกทั้งการที่เขาสามารถพัฒนาสร้างกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญอย่างมากในการเสนอแนวความคิด ต่าง ๆ เกี่ยวกับทฤษฎีดั้งเดิมที่ผิดของอาริสโตเติล ซึ่งนำความเดือดร้อนมาให้กับเขาเอง ทั้งการถูกต้องขังและถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตต่อต้านคำสั่งสอนทางศาสนา ซึ่งเกือบจะต้องเสียชีวิตถ้าเขาไม่ยอมรับความผิดอันนี้ แม้ว่าเขาจะต้องยอมรับผิด แต่เขาก็ไม่หยุดทำการค้นคว้าและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อไป


กาลิเลโอมักมีแนวความคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นเสมอ เขาจะไม่ยอมเชื่อทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาทั้งในอดีตและในยุคนั้น กาลิเลโอต้องทำการทดลอง เสียก่อนที่จะเชื่อถือในทฤษฎีข้อนั้น และด้วยนิสัยเช่นนี้ทำให้เขาได้รับฉายาว่า The Wrangler ฉายาของกาลิเลโออันนี้ในปัจจุบัน ได้ใช้หมายถึง "ผู้เชี่ยวชาญ" ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)


กาลิเลโอเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี บิดาของเขาเป็นขุนนาง นักคณิตศาสตร์ นักดนตรีและนักเขียน ที่มีชื่อเสียงอยู่พอสมควร บิดาของเขามีชื่อว่า วินเซนซิโอ กาลิเลอี (Vincenzio Galilei) กาลิเลโอเข้ารับการศึกษา ขั้นต้นที่เมืองปิซานั่นเอง กาลิเลโอเป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาด และมีความสามารถหลายด้าน ทั้งวาดภาพ เล่นดนตรี และคณิตศาสตร์ บิดาของกาลิเลโอต้องการให้เขาศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ด้วยเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่อง กาลิเลโอได้ปฏิบัติตามที่บิดาต้องการ คือ เข้าเรียนในวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา (Pisa University) แต่กาลิเลโอมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์มากกว่า จนกระทั่งครั้งหนึ่งกาลิเลโอมีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้เขาเลิกเรียนวิชาแพทย์ และไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์แทน


การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของกาลิเลโอเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1584 เมื่อเขากำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่ในโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาสังเกตเห็นโคมแขวนบนเพดานโบสถ์แกว่างไปแกว่างมา เขาจึงเกิดความสงสัยว่าการแกว่งไปมาของโคมในแต่ละรอบใช้เวลา เท่ากันหรือไม่ ดังนั้นเขาจึงทดลองจับเวลาการแกว่งไปมาของโคม โดยเทียบกับชีพจรของตัวเอง เนื่องจากเขาเคยเรียนวิชาแพทย์ ทำให้เขารู้ว่าจังหวะการเต้นของชีพจรของคนในแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาเท่ากัน ผลปรากฎว่าไม่ว่าโคมจะแกว่งในลักษณะใดก็แล้วแต่ ระยะเวลาในการแกว่งไปและกลับครบ 1 รอบ จะเท่ากันเสมอ เมื่อเขากลับบ้านได้ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้อีกหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทฤษฎีที่เขาจะตั้งขึ้นถูกต้องที่สุด ซึ่งผลการทดลองก็เหมือนกันทุกครั้ง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่ากฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือ กฎการแกว่งของนาฬิกาลูกตุ้ม กาลิเลโอได้นำหลักการจากการทดลองครั้งนี้มาสร้างเครื่องจับเวลาซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1656 คริสเตียน ฮฮยเกนส์ (Christian Huygens) ได้นำทฤษฎีนี้มาสร้างนาฬิกาลูกตุ้ม


ต่อมาในปี ค.ศ. 1585 กาลิเลโอได้ลาออกจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนต่อ เขาได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันฟลอเรนทีน (Florentine Academy) ในระหว่างนี้กาลิเลโอ ได้เขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม เล่มแรกชื่อว่า Hydrostatic Balance เป็นเรื่องเกี่ยวกับตาชั่ง ส่วนอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Centre of Gravity เป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดศูนย์ถ่วงของของแข็ง เล่มที่ 2 นี้เขาเขียนเนื่องจากมาร์เชส กวิดูบาลโด เดล มอนเต แห่งเปซาโร(Marchese Guidubald Del Monte of Pasaro) ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเขา ขอร้องให้เขียนขึ้น จากหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เองทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในปี ค.ศ. 1588 กาลิเลโอได้รับการติดต่อให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชา คณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปิซา ในปี ค.ศ. 1591 ระหว่างที่กาลิเลโอเข้าทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยปิซา เขาได้นำทฤษฎีของอาริสโตเติล มาทดสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ทฤษฎีที่ว่านี้ คือ ทฤษฎีที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกถึงพื้นก่อนวัตถุที่มีน้ำหนักเบา


แต่เมื่อกาลิเลโอทดลองแล้วปรากฏว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากและวัตถุที่มีน้ำหนักเบา จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แต่การที่อาริสโตเติล สรุปทฤษฎีเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากอากาศได้ช่วยพยุงวัตถุที่มีน้ำหนักเบาได้มากกว่าวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่ถ้าทำการทดลอง ในสุญญากาศจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าวัตถุตกถึงพื้นพร้อมกัน กาลิเลโอได้นำความจริงข้อนี้ไปชี้แจงกับทางมหาวิทยาลัย ผลปรากฏว่า มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เขาจึงทำการทดลองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน โดยนำก้อนตะกั่ว 2 ก้อน ก้อนหนึ่งหนัก 10 ปอนด์ อีกก้อนหนึ่งหนัก 20 ปอนด์ ทิ้งลงมาจากหอเอนปิซาพร้อมกัน ผลปรากฏว่าก้อนตะกั่วทั้ง 2 ก้อนตกถึงพื้นพร้อมกัน จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีของอาริสโตเติลผิด และของกาลิเลโอถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่ยึดถือทฤษฎีของ อาริสโตเติลอย่างเหนียวแน่นก็ยังไม่เชื่อกาลิเลโออยู่ดี อีกทั้งหาทางกลั่นแกล้งจนกาลิเลโอ ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซา


หลังจากที่กาลิเลโอลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซาแล้ว เขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ปาดัว (Padua University) ในระหว่างนี้กาลิเลโอได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ ทำการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตกของวัตถุ ซึ่งเขาพบว่าในระหว่างที่วัตถุตกลงสู่พื้นนั้น ความเร็วของวัตถุจะเพิ่มขึ้นทุกวินาที การทดลองนี้ทางการทหารได้นำไปใช้ในการคำนวณหาเป้าหมายของลูกปืนใหญ่ หลักเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ ของวัตถุนี้ทำให้ เกิดวิชาที่เรียกว่า "พลศาสตร์ (Dynamic)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชากลศาสตร์


กาลิเลโอมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์อย่างมาก แต่ไม่สามารถศึกษาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1608 มีข่าวว่าช่างทำแว่นตาชาวฮอลแลนด์ สามารถประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลขนาดเล็กได้เป็นผลสำเร็จ ต่อมาในปี ค.ศ. 1610 กาลิเลโอจึงนำหลักเกณฑ์เดียวดันนี้มาสร้างเป็นกล้องโทรทรรศน์ขึ้นเป็นครั้งแรกแต่กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในครั้งแรกมีกำลังขยายเพียง 3 เท่า เท่านั้น ต่อมาเขาได้ปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกำลังขยายมากถึง 32 เท่า ซึ่งกล้องอันนี้สามารถส่องดูดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลได้อย่างชัดเจน สิ่งที่กาลิเลโอได้พบเห็นจากกล้องโทรทรรศน์ เขาได้บันทึกลงในหนังสือเล่มหนึ่ง และตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปีเดียวกัน โดยใช้ชื่อหนังสือว่า SederieusNuncius หมายถึง ผู้นำสารจากดวงดาว ภายในหนังสือเรื่องนี้มีรายละเอียดดังนี้



  • ผิวของดวงจันทร์ ซึ่งปรากฏว่าไม่เรียบเหมือนอย่างที่มองเห็น แต่มีหลุม หุบเหว และภูเขาใหญ่น้อย จำนวนมาก

  • พบว่าดาวมีหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ดาวเคราะห์ คือ ดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น โลก ดาวพุธ และดวงจันทร์ เป็นต้น และดาวฤกษ์ คือ ดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง เช่น ดวงอาทิตย์ เป็นต้น

  • พบทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งมีลักษณะเป็นทางขาว ๆ ดูคล้ายหมอกบาง ๆ พาดผ่านไปบนท้องฟ้า ทางช้างเผือก เกิดจากแสงของกลุ่มดาวฤกษ์ซึ่งมีความหนาแน่นมาก

  • เนบิวลา (Nebula) คือ กลุ่มก๊าซ และวัตถุต่าง ๆ ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น

  • พบวงแหวนของดาวเสาร์ แต่กาลิเลโอไม่ได้เรียกว่าวงแหวน ต่อมาในปี ค.ศ. 1655 ฮอยเกนส์ได้พิสูจน์ว่าเป็นวงแหวน และเรียกว่า "วงแหวนของดาวเสาร์ (Saturn's Ring)"

  • พบบริวารของดาวพฤหัสบดีว่ามีมากถึง 4 ดวง กาลิเลโอได้ตั้งชื่อดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีว่า ซีเดรา เมดิซี (Sidera Medicea) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดยุคแห่งทัสคานี คอซิโมที่ 2 (Duke of Tuscany Cosimo II) ผู้ซึ่งเป็นทั้งลูกศิษย์ และเจ้านายของเขาในเวลาต่อมา และจากการค้นพบครั้งนี้ กาลิเลโอได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการโคจรของโลกรอบดวง อาทิตย์ และภายหลังจากการศึกษา กาลิเลโอได้ตั้งทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และโลกต้องโคจร รอบดวงอาทิตย์

  • พบว่าพื้นผิวของดาวศุกร์มีลักษณะคล้ายกับดวงจันทร์

  • พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) จากการค้นพบครั้งนี้กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Letter on the Solar Spot ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดดับบนดวงอาทิตย์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล ว่าอันที่จริงแล้วดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ของสุริยจักรวาล อีกทั้งโลกและดาวดวงอื่น ๆ ต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์การค้นพบทางดาราศาสตร์ของกาลิเลโอครั้งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีนั้นก็คือทำให้วิชาการด้านดาราศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง อีกทั้งชื่อเสียงของ กาลิเลโอก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น เขาได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักของท่านแกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี (Grand Duke of Tuscany) ส่วนข้อเสียเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายอย่างมากต่อกาลิเลโอ คือ ทฤษฎีของกาลิเลโอขัดแย้งกับหลักศาสนา และทฤษฎีของอาริสโตเติลที่มีผู้เชื่อถือมากในขณะนั้น แม้ว่ากาลิเลโอจะนำกล้องโทรทรรศน์มาตั้งให้ทุกคน ได้ทดลองส่องดู ซึ่งทุกคนก็เห็นเช่นเดียวกับที่กาลิเลโอบอกไว้ แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่มีความเชื่อถือในทฤษฎีของอาริสโตเติล ก็ยังไม่เห็นด้วยกับกาลิเลโอ และกล่าวหากาลิเลโอว่าต่อต้านศาสนา ทำให้กาลิเลโอได้รับคำสั่งจากศาสนจักรให้หยุดแสดง ความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อหลักศาสนา

หลังจากนั้นกาลิเลโอได้เดินทางไปยังเมืองฟลอเรนซ์ และอยู่ที่นี่เป็นเวลานานถึง 7 ปี และในระหว่างนี้ เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และในปี ค.ศ. 1618 กาลิเลโอได้พบดาวหางถึง 3 ดวง และได้พบความจริง เกี่ยวกับดาวหางที่ว่า ดาวหางเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งเช่นกัน แสงที่เกิดนี้เกิดจากแสงของดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับรุ้งกินน้ำ กาลิเลโอได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ลงในหนังสือชื่อว่า Saggiatore แต่ทฤษฎีข้อนี้ของกาลิเลโอ ผิดพลาด


ใน ปี ค.ศ. 1632 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialogo Del Due Massimi Sistemi Del Mondoแต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อความที่ต่อต้านกับหลักศาสนา กาลิเลโอจึงเขียนขึ้นในเชิงบทละคร ซึ่งมีตัวเอกด 2 ตัว สนทนา เกี่ยวกับทฤษฎีของปโตเลมี และโคเปอร์นิคัส แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสอยู่ดี ทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างหนักอีกทั้งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามมิให้จำหน่ายในประเทศอิตาลีอีกด้วย ส่วนตัวเขาถูกสอบสวนและต้องโทษจำคุกเพื่อให้สำนึกบาปที่ คัดค้านคำสอนในคริสต์ศาสนา ต่อมาเขาถูกบังคับให้กล่าวคำขอโทษ เพื่อแลกกับอิสระและชีวิตของเขา แม้ว่าเขาจะถูกปล่อยตัวออกจากคุก แต่เขาก็ยังต้องอยู่ในความควบคุมของอัสคานิโอ ปิคโคโรมินิ (Ascanio Piccoromini) บาทหลวงผู้หนึ่งซึ่งในระหว่างนี้เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับฟิสิกส์ และตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Disorsi


เมื่อการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ของเขามีอุปสรรค เขาจึงหันมาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แทน กาลิเลโอได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขึ้นหลายชิ้น ได้แก่ นาฬิกาน้ำ ไม้บรรทัด และเทอร์มอมิเตอร์ (Thermometer) เป็นต้น และในปี ค.ศ. 1636 กาลิเลโอได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Dialoghi Della Nuove Scienze แต่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1638 โดยเอสเซฟเวียร์ (Elzavirs) ที่เมืองเลย์เดน (Leyden) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชากลศาสตร์ หลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไปกลับได้รับความนิยมมากกว่าหนังสือดาราศาสตร์ของเขา อีกทั้งไม่ถูกต่อต้านจากศาสนาจักรอีกด้วย


ในช่วงสุดท้ายของชีวิต กาลิเลโอได้ค้นคว้า และเฝ้ามองดูการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้า รวมถึงดวงจันทร์ด้วย กาลิเลโอได้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์จนพบว่า ดวงจันทร์ใช้เวลา 15 วัน ในการโคจรรอบโลก ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบ ครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 เดือน เขาก็ตาบอดและสุขภาพอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความชรา และเสีย ชีวิตในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

อ้างอิงจาก : http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Galileo%20Galilei.html


วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

.
.


เกิด วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879


เสียชีวิต วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1955


ผลงาน

  • ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity)

  • ค้นพบทฤษฎีการแผ่รังสี (Photoelectric Effect Theory)

  • ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1921


ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และอาจกล่าวได้ว่า เขาคือผู้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระเบิดปรมาณูอันทรงอานุภาพแห่งการทำลายล้าง


เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ไอน์สไตน์ ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแร่ยูเรเนียมที่สามารถนำมาสร้างลูกระเบิดพลังงานการทำลายสร้างรุนแรง เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม และนำสันติภาพมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตกลงทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกลงที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้คนเสียชีวิตทันทีกว่า 60,000 คน และเสียชีวิตภายหลังอีกกว่า 100,000 คน


ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879 ที่เมืองอูล์ม (Ulm) ประเทศเยอรมนี (Germany) ไอน์สไตน์เป็นชาวเยอรมันแต่ก็มีเชื้อสายยิวด้วย บิดาของไอน์สไตน์เป็นเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องยนต์และสารเคมี ชื่อว่า เฮอร์แมน ไอน์สไตน์ (Herman Einstein) ต่อมาเมื่อ ไอน์สไตน์อายุได้ 1 ขวบ บิดาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมิวนิค ซึ่งคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชาวยิวเช่นเดียวกับเขา ทำให้เขาไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน ไอน์สไตน์เป็นเด็กที่เงียบขรึม และมักไม่ค่อยชอบออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน จนบิดาเข้าใจว่าเขาเป็นคนโง่ จึงได้จ้างครูมาสอนพิเศษให้กับไอน์สไตน์ที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องการพูด ถึงแม้ว่าการพูดของเขาจะดีขึ้น แต่เขาก็ยังเงียบขรึม และไม่ออกไปเล่นกับเพื่อนเหมือนเช่นเคย


เมื่อไอน์สไตน์อายุได้ 5 ขวบ บิดาได้ส่งเข้าโรงเรียนที่ยิมเนเซียม (Gymnasium) นักเรียน ในโรงเรียนแห่งนี้ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน และนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ถึงอย่างนั้นไอน์สไตน์ก็เข้ากับเพื่อนได้ดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบมากที่สุดในโรงเรียนก็คือการสอนที่น่าเบื่อหน่าย ที่ใช้วิธีการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาเกลียดที่สุดทำให้ไอน์สไตน์ไม่อยากไปโรงเรียน มารดาจึงหาวิธีแก้ปัญหาให้ไอน์สไตน์ โดยการให้เขาเรียนไวโอลินและเปียโนแทน แต่วิชาที่ไอน์สไตน์ให้ความสนใจมากที่สุดคือ คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาเรขาคณิตเป็นวิชาที่เขาชอบมากที่สุด ทำให้เขาละทิ้งวิชาอื่นยกเว้นวิชาดนตรี และเรียนวิชาอื่นได้แย่มาก แม้ว่าจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีมาก เขาก็มักจะถูกครูตำหนิอยู่เสมอ


ต่อมาไอน์สไตน์อายุ 15 ปี กิจการโรงงานของพ่อเขาแย่ลง เนื่องจากการรวมตัวของบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและเคมีหลายแห่งทำให้โรงงานของพ่อเขาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองมิลาน (Milan) ประเทศอิตาลี (Italy)แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย เพราะยังติดเรียนอยู่ แต่ด้วยความที่เขาคิดถึงครอบครัวมาก หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เขาได้วางแผนให้แพทย์ออกใบรับรองว่าเขาป่วยเป็นโรคประสาท เพื่อให้เขาได้เดินทางไปหาพ่อกับแม่ที่อิตาลี เมื่อเป็นเช่นนั้นไอน์สไตน์จึงเดินทางไปหาครอบครัวที่มิลาน แต่ก่อนที่เขาจะออกเดินทางเขาได้ขอใบรับรองทางการศึกษา เพื่อสะดวกในการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนอื่น


ต่อมาไอน์สไตน์ได้สอบเข้าเรียนต่อวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยโปลีเทคนิค เมืองซูริค (Federal Poleytechnic of Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอน์สไตน์สอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนดีมาก ส่วนวิชาชีววิทยาและภาษา ได้แย่มาก ทำให้เขาไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ เขาได้รับจดหมายจากครูใหญ่วิทยาลัยโปลีเทคนิค ได้เชิญเขาไปพบและแนะนำให้เขาไปเรียนต่อ เพื่อให้ได้ประการศนียบัตร ซึ่งสามารถเข้าเรียนต่อวิทยาลัยโปลีเทคนิคได้โดยไม่ต้องสอบ หลังจากนั้นเขาจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยของสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลักสูตร 1 ปี ระหว่างนี้เขาได้พักอาศัยอยู่กับครูผู้หนึ่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ไอน์สโตน์รู้สึกชอบวิทยาลัยแห่งนี้มาก เพราะการเรียนการสอนเป็นอิสระไม่บังคับ และไม่จำกัดมากจนเกินไป แนวการสอนเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในการเรียนยังดีมากดีด้วย เพราะได้มีการจัดห้องเรียนเฉพาะสำหรับแต่ละวิชา เช่น ห้องเรียนภูมิศาสตร์ก็มีภาพแผนที่ สถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แขวนไว้โดยรอบห้อง ส่วนห้องเคมีก็มีอุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย นอกจากนี้โรงเรียนแห่งนี้ยังมีนักเรียนจำนวนมาก ทำให้ไอน์สไตน์ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยที่เป็นชาวยิวอีกต่อไป หลังจากที่เขาจบหลักสูตรที่โรงเรียนมัธยม 1 ปี ไอน์สไตน์ได้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคในสาขาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ตามที่ได้ตั้งใจไว้


หลังจากจบการศึกษาแล้ว ไอน์สไตน์ได้สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองซูริค แต่ได้รับการปฏิเสธโดยไม่มีเหตุอันเหมาะสม และด้วยความเห็นใจจากศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยซูริคได้ออกใบรับรองผลการศึกษาให้เข้าจากนั้นไอน์สไตน์ได้เริ่มออกหางานทำจากประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งมีประกาศรับอาจารย์หลายแห่ง ไอน์สไตน์ได้เข้ารับการ สัมภาษณ์ แต่ปรากฏว่าไม่มีสถาบันแห่งใดรับเขาเข้าทำงานเลยแม้แต่สักที่เดียว ไอน์สไตน์เข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะเขาเป็นชาวยิว ดังนั้นในปี ค.ศ.1901 ไอน์สไตน์ได้โอนสัญชาติเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถทำให้เขาหางานทำได้อยู่ดี ในที่สุดไอน์สไตน์ก็ได้งานทำเป็นครูในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง แต่ทำอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ถูกไล่ออก จากนั้นไอน์สไตน์จึงรับจ้างเป็นครูสอนพิเศษตามบ้าน แต่ก็ทำได้ไม่นานก็ถูกพ่อแม่ของเด็กเลิกจ้าง เนื่องจากไอน์สไตน์ได้แสดงความผิดเห็นว่าไม่ควรให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนอีก เนื่องจากครูที่โรงเรียนสอนคณิตศาสตร์ในแบบผิด ๆ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ไอน์สไตน์สอน แม้ว่าเด็ก ๆ จะรักและชอบวิธีการสอนของเขาก็ตาม ไอน์สไตน์ก็ยังถุดไล่ออกอยู่ดี


ต่อมาในปี ค.ศ.1902 ไอน์สไตน์ได้เจอกับเพื่อนเก่าคนหนึ่งได้ฝากงานที่สำนักงานจดทะเบียนสิทธิบัตรที่กรุงเบิร์น ถึงแม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่ชอบงานที่นี่มากนัก แต่รายได้ปีละ 250 ปอนด์ ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น และมีโอกาสได้พบกับสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่อีกด้วย ในระหว่างที่ไอน์สไตน์ทำงานอยู่ที่นี่ เขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการประดิษฐ์สิ่งของเช่นกัน สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของไอน์สไตน์คือ เครื่องมือบันทึกการวัดกระแสไฟฟ้า


ในปี ค.ศ.1903 ไอน์สไตน์ได้แต่งงานกับมิเลวา มารี เพื่อนเก่าสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองซูริค และในปีเดียวกันนี้เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้กับนิตยสารเยอรมนีฉบับหนึ่ง และในปี ค.ศ.1905 บทความเรื่องของไอน์สไตน์ก็ได้รับความสนใจ และยกย่องอย่างมาก บทความเรื่องนี้เป็นของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพลังงาน กับมวลสาร โดยเขียนเป็นสูตรได้ดังนี้



E = mc2



โดย E (Energy) = พลังงาน


m (mass) = มวลสารของวัตถุ


c = ความเร็วแสง



ทฤษฎีสัมพัทธภาพต่อมาได้นำไปสู่การค้นคว้าเรื่อง พลังงานปรมาณู เพราะทฤษฎีนี้อธิบายว่ามวลเพียงเล็กน้อยของแร่ชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานมหาศาลที่ใช้ในโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย ในระยะแรกที่ไอน์สไตน์เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ออกไป ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจนัก แต่เมื่อไอน์สไตน์อธิบายให้ฟังด้วยวิธีง่าย ๆ ก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น และจากผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตขั้นเกียรตินิยมสูงสุด


ในปี ค.ศ.1909 เขาได้รับเชิญให้เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซูริค (Zurich University) ซึ่งไอน์สไตน์ตอบรับทันทีทั้งนี้เขาต้องการแสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงความสามารถของเขา ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยปฏิเสธเขามาครั้งหนึ่งแล้ว


ในปี ค.ศ.1911 ไอน์สไตน์ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยปราค (Prague) ในปีต่อมาไอน์สไตน์ได้รับเชิญจากวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของเขา ไอน์สไตน์ตกลงทันทีเนื่องจากเขาต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของเขา ในระหว่างนี้มีมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ อีกหลายแห่งเชิญเขาไปสอน แต่เขาก็ปฏิเสธ และเขาได้ตอบรับเป็นศาสตราจารย์พิเศษสอนที่สถาบันไกเซอร์วิลเฮล์ม (Kaiser Wilhelm Institute) การที่เขาตอบรับครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการได้สนทนากับพระเจ้าไกเซอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ ไอน์สไตน์รู้สึกถูกอัธยาศัยที่สนุกสนานเป็นกันเอง ประกอบกับความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน และอีก 2 ปีต่อมา ไอน์สไตน์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการประจำสถาบันแห่งนี้


ในปี ค.ศ.1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทำให้ทุกหนทุกแห่งวุ่นวาย โดยเฉพาะในยุโรป แต่ถึงอย่างนั้นในปี ค.ศ.1915ไอน์สไตน์ก็ยังทำการค้นคว้าเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และออกตีพิมพ์หนังสืออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (GeneralTheory of Relativity) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่หลายต่างก็ไม่เข้าใจในทฤษฎีข้อนี้ แต่ด้วยความที่ไอน์สไตน์เป็นคนสุขุมเยือกเย็น เขาได้ อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีในหลายลักษณะเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า มีรถไฟ 2 ขบวน ขบวนหนึ่งจอดอยู่กับที่ อีกขบวนหนึ่งกำลังวิ่งสวนทางไป ผู้โดยสารที่อยู่บนรถไฟที่จอดอยู่อาจจะรู้สึกว่ารถไฟกำลังวิ่งอยู่ เพราะฉะนั้น อัตราเร็ว ทิศทาง จึงมีความเกี่ยวข้องกัน


ในปี ค.ศ.1921 ไอน์สไตน์ได้เสนอผลงานออกมาอีกชิ้นหนึ่ง คือ ทฤษฎีการแผ่รังสี (Photoelectric Effect Theory) และจากผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และรางวัลจากอีกหลายสถาบัน ได้แก่ ค.ศ.1925 ได้รับเหรียญคอพเลย์ จากราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน ค.ศ.1926 ได้รับเหรียญทองราชดาราศาสตร์ ค.ศ.1931 ดำรงตำแหน่งนักค้นคว้าของวิทยาลัยไครสต์เชิร์ช แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ค.ศ.1933 เขาได้รับเชิญจากประเทศสหรัฐอเมริกาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ (Institute for Advance Study at Princeton, New Jersey) นอกจากนี้ทฤษฎีของเขายังสามารถล้มล้างทฤษฎีของจอห์น ดอลตัน (John Dalton) นักฟิสิกส์และเคมีชาวอังกฤษที่ว่า "สสารย่อมไม่สูญไปจากโลกเพราะอะตอมเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของสสาร ซึ่งไม่สามารถจะแยกออกไปได้อีก" แต่ไอน์สไตน์ได้กล่าวว่า สสารย่อมมีการสูญสลาย นอกจากพลังงานเท่านั้นที่จะไม่สูญหาย เพราะพลังงานเกิดขึ้นจากสสารที่หายไป และอะตอมไม่ใช่ส่วนที่ เล็กที่สุดของสสาร เพราะฉะนั้นจึงสามารถแยกออกได้อีก


ในปี ค.ศ.1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ไอน์สไตน์ได้รับความทุกข์ทางใจมาก เนื่องจากเยอรมนีในฐานะผู้ก่อสงคราม และมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ฮิตเลอร์รังเกียจชาวยิว และกล่าวหาชาวยิวว่าเบียดเบียนชาวเยอรมันในการประกอบอาชีพ แต่ไอน์สไตน์ ก็ยังโชคดีเพราะว่าก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1933 ได้อพยพออกจากเยอรมนี เพราะในขณะนั้นฮิตเลอร์ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีของเยอรมนี และเริ่มขับไล่ชาวยิวออกจากเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ.1932 ไอน์สไตน์เห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีนักจึงเดินทางออกมา แต่ยังมีชาวยิวกว่า 2,000,000 คน ที่ยังอยู่ในเยอรมนี และถูกสังหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 1,000,000 คน


สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 6 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ และรัสเซีย และฝ่ายอักษะ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อมาช่วงกลางปี ค.ศ.1945 เยอรมนี และอิตาลีได้ยอมแพ้สงครามเหลือเพียงแต่ญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ยอมแพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตัดสินใจทิ้งลูกระเบิดปรมาณู เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ระเบิดปรมาณูได้ทำการทดลองสร้างขึ้นในระหว่างสงครามครั้งนี้ ซึ่งมีไอน์สไตน์เป็นผู้ริเริ่ม และควบคุมการผลิต ลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกได้ทำการทดลองทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายกว่า 150,000 คน แต่ญี่ปุ่นยังไม่ประกาศยอมแพ้ ดังนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดอีก 1 ลูก ที่เมืองนางาซากิ (Nagasaki) ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 100,000 คน เช่นกัน ลูกระเบิด 2 ลูก นี้ ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เพียงเท่านี้


ไอน์สไตน์เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1955 ที่เมืองนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) หลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิตไปแล้วมีการสร้างอนุสาวรีย์ รูปไอน์สไตน์ครึ่งตัวขึ้นภายในสถาบันฟิสิกส์ แห่งกรุงเบอร์ลิน เรียกว่า หอคอยไอน์สไตน์ เพื่อระลึกถึงความสามารถของเขา






อ้างอิงจาก : http://siweb.dss.go.th/Scientist/scientist/Albert%20Einstein.html